ถ้าเป็นโควิดแล้ว อยากใช้ biogaia probiotic product ต้องใช้เป็นแบบไหนดีคะ ช่วยที่แนะนำหน่อยค่ะ และมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไรคะ



Ladynonnoy
01-03-2023 23:08:46 น.
ดู 13005 ครั้ง

ข้อมูลผู้ป่วย
เพศ ชาย
อายุ 28 ปี - เดือน
น้ำหนัก 50 กก.
LBW - กก.
ส่วนสูง - ซม.


คำตอบจากหน่วย DHI


          ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกของ BioGaia® มีองค์ประกอบหลักคือจุลินทรีย์โพรไบโอติก Limosilactobacillus reuteri DSM 17938 ชื่อเดิม Lactobacillus reuteri DSM 17938 แยกได้จากน้ำนมแม่ชาวเปรู สายพันธุ์ L. reuteri ATCC PTA 6475 แยกได้จากน้ำนมแม่ชาวฟินแลนด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และสายพันธุ์ L. reuteri ATCC PTA 4659 แยกได้จากช่องปากของหญิงชาวญี่ปุ่น ซึ่ง L. reuteri ดังกล่าวเป็นแบคทีเรียโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่มีผลการวิจัยรองรับในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

          ในกรณีการใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสำหรับผู้ป่วยโควิดนั้น ยังไม่มีผลการศึกษาทางคลินิกที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพหรือกลไกที่จำเพาะของโพรไบโอติกในผู้ป่วยโควิด ซึ่งคำแนะนำการในการใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกนั้น ผู้บริโภคสามารถใช้เพื่อการปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายร่วมกับแนวทางการรักษาและการดูแลสุขภาพอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตามสำหรับจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ L. reuteri ที่เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์โพรไบติกของ BioGaia® นั้น มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าโพรไบโอติกสายพันธุ์นี้สามารถช่วยป้องกันอาการท้องเสียและลดอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนในเด็กเล็กได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาเฉพาะในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด นอกจากนี้บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร สามารถพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกวางจำหน่ายในท้องตลาดค่อนข้างหลากหลาย การเลือกผลิตภัณฑ์นั้นสามารถพิจารณาจากคุณสมบัติของจุลินทรีย์โพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ชนิดนั้น ๆ โดยโพรไบโอติกคนละสายพันธุ์จะมีคุณสมบัติที่จำเพาะในการออกฤทธิ์ได้แตกต่างกันไป บางชนิดเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก บางชนิดมีคุณสมบัติยับยั้งการยึดเกาะของจุลินทรีย์ก่อโรคทางเดินอาหารได้ หรือ บางชนิดมีคุณสมบัติเพิ่มเติมในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หรือลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นต้น ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกนั้นมีความสำคัญมากในการพิจารณาถึงคุณสมบัติของสายพันธุ์แบคทีเรียโพรไบโอติกแต่ละชนิด และกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะของโพรไบโอติกสายพันธุ์นั้นๆ โดยพิจารณาได้จากข้อมูลที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุสายพันธุ์ของโพรไบโอติกที่ชัดเจน ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่เหมาะกับปัญหาทางสุขภาพของตนเอง และควรรับประทานตามปริมาณที่แนะนำบนฉลากเพื่อให้ได้ผลทางคลินิกตามที่ต้องการ

ผู้ตอบคำถาม ผศ.ดร.ศิริมา สุวรรณกูฏ จันต๊ะมา

เวลาที่ใช้ในการตอบคำถาม 2 วัน


คำสำคัญ : biogaia probiotic product, COVID-19
ผู้ตอบ :
ผศ.ดร.ศิริมา สุวรรณกูฏ จันต๊ะมา (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
เวลาตอบ : 03-03-2023 09:55:16
ระยะเวลาที่ใช้สืบค้นข้อมูล
1 วัน 10 ชั่วโมง 46 นาที 30 วินาที

อ้างอิง
BioGaia. Our products. Available at https://www.biogaia.com/products/ Accessed June 7, 2023.
BioGaia. What is L. reuteri?. Available at https://www.biogaia.com/probiotic-health/l-reuteri-strains/ Accessed June 7, 2023.
BioGaia.COVID-19 outbreak and probiotics: facts and information from BioGaia. Available at https://www.biogaia.com/other-news/covid-19-outbreak-and-probiotics-facts/ Accessed June 8, 2023.
Gutierrez-Castrellon P, Lopez-Velazquez G, Diaz-Garcia L, Jimenez-Gutierrez C, Mancilla-Ramirez J, Estevez-Jimenez J, Parra M. Diarrhea in preschool children and Lactobacillus reuteri: a randomized controlled trial. Pediatrics. 2014;133(4):e904-9. doi: 10.1542/peds.2013-0652. Epub 2014 Mar 17.
Agustina R, Kok FJ, van de Rest O, Fahmida U, Firmansyah A, Lukito W, Feskens EJM, van den Heuvel EGHM, Albers R, Bovee-Oudenhoven IMJ. Randomized trial of probiotics and calcium on diarrhea and respiratory tract infections in Indonesian children. Pediatrics. 2012; 129: e1155-e1164.
Weizman Z1, Asli G, Alsheikh A. Effect of a probiotic infant formula on infections in childcare centers: comparison of two probiotic agents. Pediatrics. 2005;115(1):5-9.
Tubelius P1, Stan V, Zachrisson A. Increasing work-place healthiness with the probiotic Lactobacillus reuteri: a randomised, double-blind placebo-controlled study. Environ Health. 2005;7(4):25. doi: 10.1186/1476-069X-4-25.
King S, Tancredi D, Lenoir-Wijnkoop I, Gould K, Vann H, Connors G, Sanders ME, Linder JA, Shane AL, Merenstein D. Does probiotic consumption reduce antibiotic utilization for common acute infections? A systematic review and meta-analysis. Eur J Public Health. 2019;29(3):494-499. doi: 10.1093/eurpub/cky185.

ผลการประเมินโดยสมาชิก (เฉลี่ย)

ความครบถ้วนของเนื้อหา
0

คำตอบที่ได้รับสามารถนำไปใช้ได้จริง
0

ความพึงพอใจโดยรวม
0

Print Version